การดำเนินการต่างๆในการขนส่งวัตถุอันตราย

ในการพัฒนาของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม หลายๆ อย่างอาจต้องใช้สารเคมีเข้ามามีส่วนร่วม อันทำให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย และสารเคมีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอันตราย ซึ่งในการนำเข้าหรือส่งออกสารเคมีหรือวัตถุที่เป็นอันตรายเหล่านี้ถูกเรียกว่า “สินค้าอันตราย” และในการขนส่งสินค้าอันตรายไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือ ทางอากาศ นั้นจะต้องมีวิธีดำเนินการขนส่งที่แตกต่างจากสินค้าทั่วๆ ไป

ก่อนอื่นเรามาทราบถึงความหมายของคำว่า “สินค้าอันตราย” (Dangerous Goods) หมายถึง สิ่งของหรือวัตถุ ที่มีคุณสมบัติทางเคมี หรือ ทางกายภาพโดยตัวของมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารอื่น (อากาศหรือน้ำ ฯลฯ) ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ทรัพย์สินหรือต่อสภาพแวดล้อม ตามที่ระบุไว้ใน IMDG (International Maritime Dangerous Goods Code)

ในการขนส่งวัตถุอันตราย แม้ว่าสินค้าอันตรายนั้นจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวกับสินค้าอันตรายจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก จึงมีการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อควบคุมในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตรายในแต่ละครั้งนั้น จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำเนินการเคลื่อนย้ายสินค้าอันตรายที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ ซึ่งระเบียบข้อบังคับดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับระเบียบที่ใช้กันระหว่างประเทศ คือ

สหประชาชาติ (United Nation) มีการออกข้อแนะนำในการขนส่งสินค้าอันตราย (Recommendation on the Transport of Dangerous Goods) และได้กำหนดตัวเลขที่เรียกว่า Un number เพื่อใช้แทนชื่อสินค้าอันตรายที่มีการขนส่งอยู่บ่อยครั้ง
องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) หรือ IMO มีการออกข้อบังคับและข้อที่ควรปฏิบัติระหว่างประเทศ (International Maritime Dangerous Goods Code หรือ IMDG-Code)